วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การศึกษาทางไกล(1)




บทนำ
ในการจัดการศึกษาพื้นฐานทั่วไป ก็คือการเรียนรู้ในสถานศึกษาที่เป็นห้องเรียน ของโรงเรียน หรือสถานศึกษาต่างๆ แต่สภาพการจัดการศึกษาในบางพื้นที่ ไม่สามารถที่จะจัดตั้งสถานศึกษากระจายไปทั่วทุกพื้นที่ได้ ทำให้มีผู้ที่พลาดโอกาสทางการศึกษาเกิดขึ้น หน่วยงานทางการศึกษาหน่วยหนึ่ง(กศน.) ได้ถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการศึกษาให้กับบุคลผู้พลาดโอกาสเหล่านี้ ด้วยระบบการศึกษาที่เอื้อต่อสภาพความเป็นอยู่ของผู้เรียนมากที่สุด หนึ่งในวิธีการจัดการเรียนรู้ ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในสมัยนั้นก็คือ การเรียนทางไปรษณีย์ ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญสำหรับผู้ที่อยู่ไกลสถานที่เรียน หรือไม่สามารถเข้าเรียนในชั้นเรียนได้ และนี่ก็คืออีกรูปแบบหนึ่งของการศึกษาที่เราเรียกว่า การศึกษาทางไกล(Distance Learning)

แนวคิดที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาทางไกล คือ “การจัดการศึกษาตลอดชีวิต” ซึ่งมีความเชื่อว่า การศึกษาเป็นปัจจัย ที่สำคัญประการหนึ่งในการดำรงชีวิตเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ประเด็นสำคัญ คือ การศึกษาที่ยึดตามแนวคิดและหลักการนี้ ต้องตอบสนองต่อความต้องการของสังคม และสมาชิกของสังคมทุกเพศ ทุกวัย โดยจะต้องมีรูปแบบและวิธีจัดการศึกษาที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของทุกคน ดังนั้น หลักการของการจัด การศึกษาทางไกล คือ การยอมรับศักยภาพของบุคคลแต่ละคน ที่จะสามารถแสวงหาความรู้ และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ ในสภาพแวดล้อมและเครื่องอำนวยความสะดวกอย่างที่ได้จัดเตรียมไว้
จาก diagram ข้างบนจะเห็นว่า การศึกษาทางไกล เป็นการศึกษาที่ได้รวมเอาลักษณะของการจัดการศึกษารูปแบบต่างๆนำมาใช้ นำมาเป็นเครื่องมือ หรือวิธีการที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตามความเหมาะสมของกลุ่มเป้าหมาย เมื่อเทคโนโลยีในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป รูปแบบการศึกษาทางไกลในวันนี้ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีต่างๆ เช่นกัน ทำให้มีการนำวิธีการ เครื่องมือ ช่องทางสื่อสาร เข้ามาเป็นช่องทาง เป็นองค์ประกอบร่วมในการดำเนินการจัดการศึกษาทางไกล
การศึกษาทางไกล หมายถึง วิธีการจัดการศึกษาที่ผู้เรียนและผู้สอนไม่ได้พบกันโดยตรงเป็นส่วนใหญ่แต่ผู้สอนจะถ่ายทอดเนื้อหาวิชาความรู้ ประมวลประสบการณ์ต่าง ๆ ไปทางสื่ออาจจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เทปเสียง วีดิทัศน์ คอมพิวเตอร์ และอื่น ๆ โดยที่ผู้เรียนจะรับความรู้จากสื่อเหล่านี้ในลักษณะของการเรียนด้วยตนเอง

การศึกษาทางไกล เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนโดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่ และเวลา และสามารถบริการแก่ทุกคนที่ต้องการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ เป็นผลมาจากกระแสการเปลี่ยนแปลงบริบทของโลกเนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทาง ด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี มีความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลาอย่างไร้ขอบเขต เทคโนโลยีการศึกษาช่วยให้มนุษยชาติดำรงอยู่ได้และสามารถตามทันการเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้ มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน กระจายการเรียนการสอนให้แพร่หลายอย่างกว้างขวาง เข้าถึงผู้เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา และตอบสนองความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง

ความหมายของการศึกษาทางไกล
มีผู้ให้คำนิยามของการเรียนทางไกล (Distance learning) หรือการศึกษาทางไกล (distance education) ไว้หลายท่านด้วยกันดังนี้
เบิร์ก และฟรีวิน (E.R.Burge and CC Frewin ,1985 : 4515)  ได้ให้ความหมายของการ เรียนการสอนทางไกลว่า หมายถึงกิจกรรมการเรียนที่สถาบันการศึกษาได้จัดทำเพื่อให้ผู้เรียนซึ่งไม่ได้เลือกเข้าเรียน หรือไม่สามารถจะเข้าเรียนในชั้นเรียนที่มีการสอนตามปกติได้กิจกรรมการเรียนที่จัด ให้มีนี้จะมีการผสมผสานวิธีการที่สัมพันธ์กับทรัพยากร การกำหนดให้มีระบบการจัดส่งสื่อการสอน และมีการวางแผนการดำเนินการ รูปแบบของทรัพยากรประกอบด้วย เอกสาร สิ่งพิมพ์ โสตทัศนูปกรณ์ สื่อคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้เรียนอาจเลือกใช้สื่อเฉพาะตนหรือเฉพาะกลุ่มได้ ส่วนระบบการจัด ส่งสื่อนั้นก็มีการใช้เทคโนโลยีนานาชนิด สำหรับระบบบริหารก็มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาทางไกล ขึ้น เพื่อรับผิดชอบจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

โฮล์มเบิร์ก (Borje Holmber, 1989: 127 อ้างถึงใน ทิพย์เกสร บุญอำไพ. 2540 : 38) ได้ ให้ความหมายของการศึกษาทางไกล ว่าหมายถึงการศึกษาที่ผู้เรียนและผู้สอนไม่ได้มาเรียนหรือ สอนกันซึ่ง ๆ หน้า แต่เป็นการจัดโดยใช้ระบบการสื่อสารแบบสองทาง ถึงแม้ว่าผู้เรียนและผู้สอนจะไม่อยู่ในห้องเดียวกันก็ตาม การเรียนการสอนทางไกลเป็นวิธีการสอนอันเนื่องมาจากการแยกอยู่ห่างกันของผู้เรียนและผู้สอน การปฏิสัมพันธ์ดำเนินการผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ คอมพิวเตอร์ และเครื่องมือ
อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

ไกรมส์ (Grimes) ได้ให้นิยามการศึกษาทางไกลว่า คือ "แนวทางทุก ๆ แนวทางของการเรียนรู้จากหลักสูตรการเรียนการสอนปกติที่เกิดขึ้น แต่ในกระบวนการเรียนรู้นี้ครูผู้สอนและนักเรียนอยู่คนละสถานที่กัน " นอกจากนี้ ไกรมส์ ยังได้อธิบายถึงเรื่อง การใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน ผ่านสื่อทางไกล โดยเขาได้ให้นิยามที่กระชัย เข้าใจง่ายสำหรับการศึกษาทางไกลสมัยใหม่ไว้ว่าคือ "การนำบทเรียนไปสู่นักเรียนโดยใช้เทคโนโลยีมากกว่าที่จะใช้เทคโนโลยีนำนักเรียนเข้าสู่บทเรียน" และไกรมส์ยังได้ถอดความของคีแกน (Keehan) ซี่งได้กำหนดลักษณะเฉพาะของการเรียนการสอนทางไกลไว้ ดังนี้คือ
   1. เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่ครูและนักเรียนอยู่ต่างสถานที่กัน
   2. สถาบันการศึกษาเป็นผู้กำหนดขอบเขตและวิธีการในการบริหารจัดการ
       (รวมทั้งการประเมินผลการเรียนของนักเรียน)
   3. ใช้กระบวนการทางสื่อในการนำเสนอเนื้อหาหลักสูตร และเป็นตัวประสานระหว่างครูกับนักเรียน
   4. สามารถติดต่อกันได้ทั้งระหว่างครูกับนักเรียนและหรือสถาบันการศึกษากับนักเรียน

เนคเทค (2545) กล่าวว่าการจัดการศึกษาทางไกลเป็นการจัดการเรียนการสอน โดยใช้สื่อต่างๆ เน้นการศึกษาด้วยตนเอง ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดเวลาศึกษาหาความรู้จากสื่อต่างๆ ที่หลากหลายด้วยตนเอง กำหนดสถานที่เรียนเอง กำหนดเวลาหยุดพักเอง นับว่าเป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งหัวใจสำคัญในการเรียนระบบนี้ ก็คือ สื่อต้องมีหลากหลาย และมีการจัดเตรียมอย่างเป็นระบบ ต้องอาศัยนวัตกรม และเทคโนโลยีทางการศึกษาที่เหมาะสมมาช่วยเสริม

กิดานันท์ มลิทอง (2543 : 173) การศึกษาทางไกล (Distance Education) หมายถึง ระบบการศึกษาที่ผู้เรียน และผู้สอนอยู่ไกลกัน แต่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้ได้โดยอาศัยสื่อการสอนในลักษณะของสื่อประสม กล่าวคือ การใช้สื่อต่างๆ ร่วมกัน เช่น ตำราเรียน เทปเสียง แผนภูมิ คอมพิวเตอร์ หรือโดยการใช้อุปกรณ์ทาง โทรคมนาคม และสื่อมวลชนประเภทวิทยุและโทรทัศน์เข้ามาช่วยในการแพร่กระจาย การศึกษาไปยังผู้ที่ปรารถนาจะเรียนรู้ ได้อย่างกว้างขวางทั่วทุกท้องถิ่น การศึกษานี้มีทั้งในระดับต้นจนถึงระดับสูงขั้นปริญญา

วิจิตร ศรีสอ้าน (2529 : 5 - 7) ได้ให้ความหมายของการเรียนการสอนทางไกลว่าหมายถึง ระบบการเรียนการสอนที่ไม่มีชั้นเรียน แต่อาศัยสื่อประสมอันได้แก่ สื่อทางไปรษณีย์ วิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และการสอนเสริม รวมทั้งศูนย์บริการทางการศึกษา โดยมุ่งให้ผู้เรียนเรียนได้ ด้วยตนเองอยู่กับบ้าน ไม่ต้องมาเข้าชั้นเรียนตามปกติ การเรียนการสอนทางไกลเป็นการสอนที่ผู้ เรียนและผู้สอนจะอยู่ไกลกัน แต่สามารถมีกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกันได้ โดยอาศัยสื่อประสม เป็นสื่อการสอน โดยผู้เรียนผู้สอนมีโอกาสพบหน้ากันอยู่บ้าง ณ ศูนย์บริการ การศึกษาเท่าที่จำเป็น การเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากสื่อประสมที่ผู้เรียนใช้เรียนด้วยตนเองในเวลาและสถานที่สะดวก

สนอง ฉินนานนท์ (2537 : 17 อ้างถึงใน ทิพย์เกสร บุญอำไพ. 2540 : 7) ได้ให้ความหมาย ของการศึกษาทางไกลว่าเป็นกิจกรรมการเรียนสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในชั้นเรียนตามปกติได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเหตุผลทางภูมิศาสตร์ หรือเหตุผลทางเศรษฐกิจก็ตาม การเรียนการสอนลักษณะ นี้ผู้สอนกับผู้เรียนแยกห่างกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์โดยผ่านสื่อการเรียนการสอน การเรียนโดยใช้สื่อการเรียนทางไกลนั้น ใช้สื่อในลักษณะสื่อประสม (Multimedia) ได้แก่ สื่อเอกสาร สื่อโสตทัศน์ และ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่นรายการวิทยุ โทรทัศน์ เทปเสียง วีดิทัศน์ และคอมพิวเตอร์

วิชัย  วงศ์ใหญ่ ( 2527  อ้างถึงในสารานุกรมศึกษาศาสตร์. 2539: 658 )  การสอนทางไกล (distance teaching)  หมายถึง ระบบของการจัดการศึกษาวิธีหนึ่ง ซึ่งผู้สอนและผู้เรียนไม่ต้องมาทำกิจกรรมในห้องเรียน กระบวนการเรียนการสอนจะยืดหยุ่นในเรื่องเวลา สถานที่ โดยคำนึงถึงความสะดวกและความพร้อมของผู้เรียนเป็นหลัก รูปแบบของการเรียนจะใช้สื่อการเรียนประเภทต่าง ๆ เช่น สิ่งพิมพ์ สื่อที่ติดต่อทางไปรษณีย์ สื่อทางวิทยุ สื่อทางโทรทัศน์และสื่อโสตทัศน์อุปกรณ์ประเภทอื่น รวมทั้งการพบกลุ่มโดยมีวิทยากรเป็นผู้ให้ความรู้หรือการสอนเสริม เป็นต้น

โดยสรุปแล้วการศึกษาทางไกล หมายถึง กิจกรรมการเรียนการสอนที่จัดขึ้นโดยที่ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเข้าชั้นเรียนปกติ เป็นการเรียนการสอนแบบไม่มีชั้นเรียน แต่อาศัยสื่อต่าง ๆ ที่หลากหลาย นำมาใช้ในการศึกษาร่วมกัน ได้แก่ เอกสาร สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงสื่อบุคคลช่วยในการจัดการเรียนการสอน

ลักษณะเฉพาะที่สำคัญ
การเรียนรู้แบบทางไกล เป็นการจัดการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนจะเรียนรู้จากสื่อต่างๆ ด้วยวิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาที่ลดข้อจำกัดทางการศึกษา โดยเฉพาะมุ่งเน้นความเท่าเทียมกันของการศึกษาในทุกสภาพพื้นที่ ทุกชุมชน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากผู้สอนที่มีทักษะความรู้ในหลักสูตร ซึ่งในบางพื้นที่ ที่ห่างไกลจากสังคมเมืองจะขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น