การศึกษา (Education)ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นิยาม ความหมายของการศึกษา มีความหมายว่า "กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต" และมาตรา 15 ได้กำหนดระบบการศึกษา ในการจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 4 ได้บัญญัติความหมายของการศึกษาตลอดชีวิตไว้ว่า หมายถึง การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
นอกจากนี้ใน พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 มาตรา 8 การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาตามอัธยาศัย ก็ได้ให้ความสำคัญต่อผู้เรียน โดยได้ระบุไว้ว่า "ผู้เรียนได้รับความรู้และทักษะพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต"
ในความหมายของการศึกษาตลอดชีวิตดังกล่าว สอดคล้องกับความหมายของการศึกษา ซึ่งมีสถานที่และระยะเวลาเช่นเดียวกัน คือเป็นการศึกษาที่เกิดในทุกสถานที่ และตลอดระยะเวลาในชีวิตของบุคคลบุคคลหนึ่ง
นอกจากนี้ การศึกษาตลอดชีวิตยังจะต้องเป็นการผสมผสานกันระหว่างการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยอีกด้วย
ในการจัดการศึกษาของประเทศจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาตลอดชีวิตเป็นอย่างสูง โดยเห็นได้จากความหมายของการศึกษา และความหมายของการศึกษาตลอดชีวิตดังกล่าว พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเองก็ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 8 โดยในการจัดการศึกษาให้ยึดหลัก 3 ประการคือ เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน, ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ในหนังสือ คำภีร์ กศน ได้ให้ความหมายของ การศึกษาตลอดชีวิต ไว้ว่า
• การศึกษาที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
• การศึกษาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดจนตาย
• พัฒนาคนให้ได้เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆตามความสามารถของตนเอง เพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก สามารถทำงานและอยู่ร่วมกันในสังคม
การเรียนรู้ตลอดชีวิต
หมายถึง การรับรู้ความรู้ ทักษะ และเจตคติ ตั้งแต่เกิดจนตายจากบุคคลหรือสถาบันใดๆ โดยสามารถ จะเรียนรู้ด้วยวิธีเรียนต่างๆ อย่างมีระบบหรือไม่มีระบบ โดยตั้งใจหรือโดยบังเอิญก็ได้ ทั้งนี้สามารถทำให้บุคคลนั้นเกิดการพัฒนาตนเอง
การศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education)
หมายถึง การจัดกระบวนการทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นการจัด การศึกษาในรูปแบบของการศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non - Formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) โดยมุ่งให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self - directed Learning) มุ่งพัฒนาบุคคลให้สามารถพัฒนาตนเอง และปรับตนเองให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองและเศรษฐกิจของโลก
การศึกษาตลอดชีวิต
หมายถึง การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพปัญญาและความต้องการของกลุ่มแต่ละกลุ่ม
การศึกษาตลอดชีวิต Phillip H. Coombs (ผู้เขียนหนังสือ The World Crisis in Education : The View from the Eighties) พบว่ารูปแบบการศึกษาในระบบโรงเรียนของประเทศด้อยพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนา ไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชน ได้อย่างทั่วถึงทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการศึกษา (Educational Crisis) เพราะประชาชนที่มีฐานะดีเท่านั้นที่มีโอกาสได้รับการศึกษา ส่วนคนยากจนจะขาดโอกาสในการศึกษา แม้รัฐบาลต่างๆ ได้ทุ่มเทงบประมาณด้านการศึกษาสูงมากก็ตาม แต่การศึกษาไม่สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตการศึกษาของประชาชน โดยเฉพาะผู้อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล รัฐบาลยิ่งพัฒนาคนรวยกลับรวยยิ่งขึ้น คนจนกลับจนลง จึงทำให้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา หมายเหตุ : หนังสือที่กล่าวถึงในข้างบน แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ วิกฤตการณ์ของโลกในทางการศึกษา: ทัศนะในทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นหนังสือแปล อันดับที่ 87 ของ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพฯ ปี 2535 โดย ดร. ก่อ สวัสดิพาณิชย์
แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิต
การศึกษาตลอดชีวิต เป็นแนวความคิด ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการศึกษาปัจจุบัน แท้จริงแล้วแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิตมิใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานานแล้วในคัมภีร์กุรอานมีคำสอนว่า บุคคลพึงเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในเปลถึงหลุมฝังศพ (From cradle to grave) หรือจากครรภ์มารดาถึงสุสาน(From womb to tomb) คอมินิอุส (Comenius) นักศึกษาในสมัยนั้น ได้พูดถึงรายละเอียดของกระบวนการศึกษาตลอดชีวิตว่า ควรจัดให้มีโรงเรียน สำหรับทุกคน กล่าวคือ โรงเรียนสำหรับทารกแรกเกิด เด็กก่อนวัยเรียน เด็กเยาวชนวัยเรียน คนหนุ่มสาว และคนชรา ในช่วง 60 กว่าปีที่ผ่านมานี้ได้มีการเผยแพร่เรื่องเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษ และเพิ่มความสนใจไปสู่ทั่วโลก ในการประชุมระหว่างชาติว่าด้วยการศึกษาผู้ใหญ่ (World Conference on Adult Education) ที่จัดโดย Unesco ที่กรุงมอนตรีอัล ประเทศแคนาดา ค.ศ.1960 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ค.ศ.1972 และที่กรุงไนโรบี ค.ศ.1986 ได้พัฒนาแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิต อันมีสาระสำคัญดังนี้
- มนุษย์แสวงหาความรู้ และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพราะมนุษย์เราเรียนรู้จากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคมทุกขณะ เช่น จากการ ทำมาหากิน การเล่น การพักผ่อน การเข้าร่วมพิธีกรรม และการสมาคม เป็นต้น
- การศึกษาที่แท้จริงไม่ได้จำกัดแต่เพียงในโรงเรียนแต่ครอบคลุมถึง การศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาเกิดได้ตามโอกาส จึงไม่มี วันสิ้นสุด 3. การศึกษาตลอดชีวิตเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้รับการศึกษา เพราะสามารถเลือกเรียนตามรูปแบบที่ตนต้องการ ยืดหยุ่นได้ตามโอกาส ทุกคน สามารถ เรียนรู้ได้จากทุกแห่งตามโอกาสจะอำนวย ฉะนั้น มนุษย์จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยการศึกษาอย่างไม่มีจุดจบไปตลอดชีวิต
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น